วันพุธที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2555

วิธีการสอนไวยากรณ์และการแปล (Grammar Translation)


วิธีการสอนไวยากรณ์และการแปล (Grammar Translation)

การสอนวิธีนี้บางทีก็มีคนเรียกว่าเป็นวิธีไวยากรณ์และแปล ( Grammar - Translation Method) เพราะเน้นในการเรียนกฎเกณฑ์การใช้ภาษา ข้อยกเว้นต่าง ๆ และวิธีแปล การเรียนแบบนี้ครั้งหนึ่งมีผู้นิยมกันมาก วิธีสอนแบบนี้ใช้วิธีแปลเป็นหลักโดยถือว่าภาษานั้นประกอบด้วยคำเป็นจำนวนมาก ฉะนั้นตำราที่เกี่ยวกับการสอนภาษาอังกฤษจึงยึดเอาการเรียนให้รู้คำศัพท์เป็นจำนวนมากเป็นเกณฑ์ แบบฝึกหัดต่าง ๆ นั้นก็ได้แก่การให้ประโยคภาษาไทย ให้นักเรียนแปลเป็นภาษาอังกฤษ และให้ประโยคภาษาอังกฤษเพื่อให้นักเรียนแปลเป็นภาษาไทย 
ข้อดีของการสอนแบบแปล
1. การสอนแบบนี้ จะมีประโยชน์สำหรับผู้เริ่มเรียนในระยะแรก ๆ คือ ในเวลาที่ผู้เรียนยังไม่รู้จักเสียง โครงสร้าง และความหมายมากพอ การแปลศัพท์ที่มีความหมายตรงกัน (word for word translation) ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจแจ่มแจ้ง และไม่เสียเวลามาก แต่ครูจะต้องค่อย ๆ ลดการแปลลงทีละน้อย ๆ เมื่อนักเรียนรู้ภาษาอังกฤษมากขึ้น โดยการนำคำและโครงสร้างที่นักเรียนทราบมาใช้แทนที่
2. การแปลยังเป็นประโยชน์ในการช่วยทดสอบความเข้าใจของนักเรียน ในเรื่องที่สอนไปแล้ว แต่ในการฝึกเป็นภาษาอังกฤษ ไม่จำเป็นต้องฝึกแปลจากไทยเป็นอังกฤษหรือจากอังกฤษเป็นไทย
ข้อเสียของการสอนแบบแปล
จะเห็นได้ว่า การสอนแบบแปลนี้ นักเรียนไม่ได้เรียนตามธรรมชาติของภาษาเลย นักเรียนที่เรียนแบบนี้จะฟังภาษาอังกฤษไม่รู้เรื่องและพูดไม่ได้ 
ในด้านการเขียน การสอนแบบนี้ก็ไม่ช่วยให้การเขียนภาษาอังกฤษของนักเรียนดีขึ้น เพราะนักเรียนทราบแต่ศัพท์ เมื่อนำมาเขียน นักเรียนก็จะใช้ศัพท์เหล่านั้นในประโยคโดยที่นักเรียนไม่แม่นในรูปแบบของประโยค และบังเกิดความเคยชินกับการคิดเป็นภาษาไทยก่อนเสมอแทนที่จะคิดเป็นภาษาอังกฤษเลยทีเดียว จะปรากฏว่านักเรียนใช้คำภาษาอังกฤษจริงแต่รูปประโยคจะเป็นภาษาไทย เช่น นักเรียนจะใช้ประโยคว่า “ The music enjoyed very much ” แทน “ I enjoyed the music very much .” เพราะประโยคข้างบนนั้นนักเรียนเขียนเทียบกับภาษาไทยว่า “ เพลงสนุกมาก ” แม้แต่ในการแปล การสอนแบบนี้ก็ไม่ได้ผลเต็มที่ นักเรียนอาจจะแปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยได้ แต่การแปลจากภาษาไทยเป็นภาษา อังกฤษนั้นนักเรียนจะเขียนประโยคที่ผิด ๆ ลงไปเสียเป็นส่วนมาก เพราะนักเรียนไม่คุ้นเคยกับการใช้ประโยคภาษาอังกฤษ
การแปลนั้นมิได้หมายความว่า นักเรียนจะเข้าใจภาษาอังกฤษ เพราะคำที่นักเรียนเข้าใจนั้นเป็นคำไทยที่ครูใช้ในการแปล ไม่ใช่ตัวภาษาอังกฤษที่นักเรียนอ่าน ถ้าครูอ่านภาษาอังกฤษนักเรียนจะไม่เข้าใจ แต่ถ้าครูแปลเป็นไทยจึงจะเข้าใจ ดังนั้นที่นักเรียนเข้าใจคือ ภาษาไทยไม่ใช่ภาษาอังกฤษ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น