วันพุธที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2555

วิธีการสอนแบบฟัง – พูด ( Audio – Lingual Method )



วิธีฟัง – พูด ( Audio – Lingual Method )
     การสอนวิธีนี้มีชื่อเรียกหลายแบบ เช่น Oral – Aural Method และ Oral linguistic method แต่ในปัจจุบันนิยมเรียกว่า Audio – Lingual Method การสอนวิธีนี้ยึดทฤษฎีที่ว่า ภาษาทุกภาษาในโลกย่อมมีระบบเสียง โครงสร้าง (ไวยากรณ์ ) และความหมายเป็นของตนโดยเฉพาะ และยึดหลักจิตวิทยาการเรียนรู้แบบศึกษาพฤติกรรม ( behaviorism ) ซึ่งเชื่อว่าภาษานั้นเป็นพฤติกรรม เมื่อผู้เรียนมีสิ่งเร้าซึ่งเกิดขึ้นโดยการที่ครูเป็นผู้ให้แบบอย่างทางภาษาโดยการพูดหรือเขียน เมื่อผู้เรียนฟังหรืออ่านแล้วก็มีพฤติกรรมตอบสนองโดยการพูดหรือเขียน ตลอดเวลาผู้สอนและผู้เรียนจะมีพฤติกรรมตอบโต้สัมพันธ์กัน คือครูประเมินผลโดยการพิจารณาจากการตอบสนองของนักเรียน ประเมินค่าแล้วให้การฝึกอย่างหนักหน่วงเป็นการเสริมแรง ( reinforcement ) โดยใช้วิธีการฝึกโครงสร้าง ( pattern ) ซ้ำ ๆ กันหลายครั้ง เพื่อให้นักเรียนสามารถใช้ภาษาได้อย่างอัตโนมัติ
     ในการสอนมีการเปรียบเทียบระบบเสียงและโครงสร้างของทั้งสองภาษา ( ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ) เพื่อผู้สอนจะได้เห็นข้อคล้ายคลึงและแตกต่าง เป็นประโยชน์ในการฝึก กล่าวคือถ้าเสียงหรือแบบประโยคใดคล้ายกัน ครูก็ไม่ต้องเสียเวลาฝึกมากนักเพราะนักเรียนจะเรียนรู้ได้เร็วเป็นต้นว่า ภาษาไทยมีเสียง  ซึ่งคล้ายกับเสียงภาษาอังกฤษ เมื่อพบคำว่า do นักเรียนจะพูดคำนี้ได้ไม่ยากนัก แต่เมื่อมาถึงเสียง th ซึ่งอยู่ข้างหน้าคำ thing เสียงนี้ในภาษาไทยไม่มี ครูจะต้องให้ความเอาใจใส่ในการฝึกเป็นพิเศษ นักภาษาศาสตร์กลุ่มนี้เชื่อว่าชาวต่างชาตินั้นสามารถจะฝึกหัดพูดให้เสียงเหมือนเจ้าของภาษาได้ เมื่อมีการอธิบายอย่างละเอียดถี่ถ้วนเกี่ยวกับฐานที่เกิดของเสียงต่าง ๆ และวิธีออกเสียงนั้น ๆ ต่อจากนั้นก็เปรียบเทียบในภาษาของผู้เรียนที่ใกล้เคียงกับเสียงนั้น เช่น เสียง th นี้ คนไทยอาจจะได้ยินว่าเหมือนเสียง  หรือ  หรือบางทีได้ยินเป็นเสียง  ได้ ครูผู้สอนจะต้องชี้ให้เห็นข้อแตกต่างของเสียงเหล่านี้ และฝึกให้นักเรียนฟังจนจับข้อแตกต่างได้ เมื่อฟังได้ดีแล้วจึงฝึกให้พูดเสียงต่าง ๆ เหล่านี้ให้ถูกต้อง ในการฝึกเสียงซึ่งไม่มีในภาษาไทยนี้ จะต้องฝึกถึงขั้นที่นักเรียนทำได้จริง
      การเรียนความหมายของศัพท์ก็เช่นเดียวกัน ต้องนำมาเปรียบเทียบกันระหว่างสองภาษาเพื่อจะพิจารณาว่าทั้ง 2 ภาษาให้ความหมายเหมือนกันหรือไม่ ศัพท์อะไรบ้าง ซึ่งอธิบายความหมายความคิดและความเข้าใจในเรื่องความเป็นไปในชีวิตในแง่ต่าง ๆ คล้ายกัน หรือแตกต่างกันไป คำที่มีความหมายอย่างเดียวกันในสองภาษา การสอนก็ทำได้โดยง่าย แต่ถ้าคำใดแตกต่างกันไป ในการสอนครูควรใช้อุปกรณ์การสอนต่าง ๆ เท่าที่จะหาได้มาช่วย หรืออาจจะมีการทำแบบฝึกหัด การเปรียบเทียบ และวิธีอธิบายต่าง ๆ เพื่อให้เข้าใจความหมายซึ่งต่างกัน ในการสอนโครงสร้างของภาษาใหม่นั้น การสอนจะเริ่มไปจากแบบที่ทั้งสองภาษามีส่วนคล้ายกันโดยไม่ต้องอธิบายมาก ส่วนสำคัญอยู่ที่แบบสร้างที่ไม่เหมือนกัน ผู้สอนจะต้องเน้นและให้การฝึกฝนเป็นพิเศษ ในการสอนคำศัพท์นั้น ในระยะเริ่มแรกนักเรียนไม่จำเป็นต้องเรียนมากคำ แต่ละคำครูจะต้องสอนเสียง โครงสร้าง ให้นักเรียนสามารถใช้คำศัพท์นั้นได้ถูกต้อง เมื่อนักเรียนแม่นเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว และเรียนนาน ๆ เข้าจำนวนคำศัพท์ก็จะเพิ่มพูนขึ้นเอง
        ในการอธิบายบทเรียนต่าง ๆ นั้น การสอนวิธีนี้อนุโลมให้ใช้ภาษาของผู้เรียนมาอธิบายได้เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจแจ่มแจ้ง ทั้งเป็นการประหยัดเวลาด้วย แต่การใช้ภาษาไทยอธิบายนี้ ครูควรพยายามใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น การอธิบายเกี่ยวกับเรื่องไวยากรณ์หรือคำศัพท์หรือรูปประโยคที่ยาก ๆ ซึ่งไม่สามารถจะแสดงท่าทางหรือใช้อุปกรณ์การสอนช่วยได้ก็ให้แปลให้นักเรียนเข้าใจได้ แต่หลังจากแปลแล้วก็ให้มีการฝึกใช้ภาษาอังกฤษให้มาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น